ระบบฟิวดัล

ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)


ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)

        ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์เป็นระบบการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ ของยุโรปสมัยกลาง ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง ขุนนางระดับสูงกับขุนนางระดับรองลงมาและเจ้าของที่ดินกับพลเมืองที่ทำมาหากินที่ดินนั้น
        คำว่า Feudalism มาจากคำว่า ฟีฟ (Fief) แปลว่า ที่ดิน ซึ่งหมายถึงที่ดินซึ่งเป็นพันธสัญญาระหว่างเจ้านายที่เป็นเจ้าของที่ดินเรียกว่า ลอร์ด (Lord) กับผู้รับมอบที่ดิน และหาประโยชน์ในที่ดิน เรียกว่า วัซัล (Vassal) ซึ่งจะต้องให้ความเคารพ จงรักภักดี รับใช้และปกป้องเจ้านายหรือลอร์ดเป็นการตอบแทน
        ระบบฟิวดัลพัฒนามาจากการปกครองของจักรวรรดิโรมันนยุคที่พวกอนารยชนรุกราน ประชาชนจึงต้องพึ่งขุนนางที่ปกครองท้องถิ่น ขุนนางท้องถิ่นจึงมีอำนาจขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้จักรพรรดิโรมันจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้แว่นแคว้นต่างๆ ปกครองดินแดนตนเอง มีกองทัพและกฏหมายตัดสินคดีความ
        ต่อมาเกิดการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้ปกครอง จักรพรรดิต้องอาศัยกองกำลังและการสนับสนุนจากขุนนางให้มีอำนาจมั่นคง จักรพรรดิจึงพระราชทานที่ดินให้แก่ขุนนางหรือลอร์ด เพื่อให้ขุนนางจงรักภักดี และเป็นการตอบแทนความดีความชอบจากการทำสงคราม เป็นผลให้ขุนนางมีอำนาจครอบครองและปกครองเขตแดนต่าง ๆ
      ขุนนางหรือลอร์ดจะนำที่ดินที่ได้รับพระราชทานนั้น มาแบ่งให้ขุนนางระดับรองลงไป เรียกว่า วัสซัล ซึ่งจะเป็นผู้หาประโยชน์ในที่ดินนั้น วัสซัลนี้จะปกครองดูแลผู้คนที่ทำมาหากินบนที่ดินในเขตที่ตนรับผิดชอบ ที่ดินเหล่านี้เรียกว่า แมนเนอร์ (manor)
         ในแต่ละแมนเนอร์จะมีคฤหาสน์หรือปราสาทซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางและครอบครัว ปราสาทของขุนนางมีกำแพงล้อมรอบ เป็นศูนย์กลางของแมนเนอร์ บริเวณรอบๆ เป็นท้องไร่ท้องนาและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ทำงานในที่ดินนั้น ซึ่งอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ในหมู่บ้านจะมีวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โรงสี ร้านค้า โรงตีเหล็กและช่างผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แต่ละแมนเนอร์จึงเป็นหน่วยเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยสินค้าจากภายนอก ยกเว้นเกลือ เหล็ก และน้ำมันดิบ
         ประชาชนที่อาศัยและทำงานในที่ดินนั้น เรียกว่า เซิร์ฟ (serf) ซึ่งจะจ่ายผลผลิตให้กับเจ้าของที่ดินและอุทิศแรงงานทำการเพาะปลูกในที่ดินของเจ้าของที่ดินเป็นการตอบแทน เรียกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบแมนเนอร์ (Manor System)
        ความสัมพันธ์ระหว่างลอร์ดกับวัสซัล มีพิธีกรรมที่เรียกว่า การแสดงความจงรักภักดีหรือสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ โดยลอร์ดมีอำนาจทั้งด้านการปกครอง และด้านตุลาการให้ความคุ้มครองเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนวัสซัลต้องสาบานว่าจะจงรักภักดี รวมทั้งส่งเงินและกำลังทหารของตนเข้าสมทบในกองทัพของลอร์ดด้วย ระบบฟิวดัลดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบการปกครอง เศรษฐกิจของสังคม ในอาณาจักรของชนเผ่าเยอรมันต่าง ๆ สืบต่อมา
        ระบบฟิวดัลเริ่มล่มสลายในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อเศรษฐกิจในยุโรปเจริญเติบโตขึ้นและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองอุตสาหกรรมหลายแห่ง โดยเฉพาะเมืองท่าต่างๆ ทำให้ผู้คนที่อยู่ในแมนเนอร์อพยพเข้าไปอยู่ในเขตเมืองเพื่อทำงานและได้สิทธิการเป็นพลเมือง เกิดการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรม ทำให้ระบบแมนเนอร์ล่มสลาย
       ผนวกกับขุนนางที่เคยมีอำนาจต้องออกไปทำสงครามครูเสดเสียชีวิตเป็นจำนวนมากและยากจนลง ความเจริญทางเศรษฐกิจทำให้พวกพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นกลางมีความมั่งคั่งขึ้นและมีอำนาจแทนที่ขุนนาง นอกจากนี้พวกวัสซัลยังใช้เงินตอบแทนลอร์ดแทนการเป็นทหารในกองทัพและซื้อที่ดินของลอร์ดมาเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นผลให้ระบบฟิวดัลเสื่อมอำนาจลงในที่สุด

อิทธิพลของระบบฟิวดัลที่สำคัญ

        ด้านการปกครอง
        ระบบฟิวดัลเป็นรากฐานการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นของดินแดนต่างๆ ในยุโรป นอกจากนี้เมื่อระบบฟิวดัลล่มสลาย กษัตริย์สามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองได้อย่างมั่นคง ทำให้เกิดการสร้างรัฐชาติและพัฒนาเป็นประเทศในเวลาต่อมา
        ด้านสถาปัตยกรรม
        สถาปัตยกรรมในสมัยฟิวดัลสะท้อนอยู่ในปราสาทหรือคฤหาสน์ของลอร์ด ที่เป็นศูนย์กลางในแมนเนอร์ ซึ่งในระยะแรกรับอิทธิพลจากสิ่งก่อสร้างของโรมันที่ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแกร่ง สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและป้องกันศัตรูที่มารุกรานได้
        ต่อมาในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบโกธิค ที่มีความอ่อนช้อยงดงามมากขึ้น
ส่วนสถาปัตยกรรมทางศาสนานิยมสร้างโบสถ์ขนาดใหญ่ที่สง่างาม เช่น มหาวิหารโนเทรอดามในฝรั่งเศส มหาวิหารเซวิญาในสเปน
         ด้านเศรษฐกิจและสังคม
         ในช่วงปลายระบบฟิวดัล เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าและพวกช่าง เรียกว่า
ชนชั้นกระฏุมพี หมายถึง ชนชั้นที่เป็นอิสระไม่อยู่ในระบบแมนเนอร์แล้ว ได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมช่างฝีมือหรือสมาคมอาชีพเพื่อพัฒนาแรงงานและคุณภาพสินค้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นอกจากนี้ที่ดินของขุนนางได้เปลี่ยนมาเป็นที่ดินของนายทุน ส่งผลให้การเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงการผลิตใหม่มาเป็นการส่งออกตลาดแทน มรดกทางวัฒนธรรมของระบบฟิวดัลที่มีต่อยุโรปคือตำแหน่งขุนนาง เช่น ดุ๊ก เคานส์ บารอน เอิร์ล

การล่มสลายของระบบฟิวดัล

   การที่ระบบฟิวดัลล่มสลายนั้นเป็นผลจากการขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมในยุโรป โดยเฉพาะในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เกิดชุมชนพาณิชย์อุตสาหกรรมขึ้น ส่งผลให้ชาว ชนบทละทิ้งที่นาเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายหรือประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมในเขตเมือง ทำให้สังคมเมืองมีการขยายตัว เกิดเป็นสังคมเมืองขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้คนที่มาอยู่ในเมืองไม่ได้อยู่ใน ระบบฟิวดัล แต่เป็นกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพทางการค้าและอุตสาหกรรม และเมื่อมีประชาชนเพิ่ม มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุมชนเมืองขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปในคริสต์ ศตวรรษที่ 11-12 หัวเมืองในอิตาลี เช่น เมืองเวนิส เมืองเจนัว และเมืองในบริเวณเนเธอร์แลนด์ เป็นเมืองสำคัญทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม การค้าทางทะเลมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นโดย เฉพาะในเขตทะเลเหนือและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีการจัดการปกครองแบบ เทศาภิบาล (MUNICIPALITY) มีการเก็บภาษีท้องถิ่นเพื่อที่จะพัฒนาเมืองและมีระบบสร้างความปลอดภัยให้กับเมือง พวกพ่อค้าและพวกช่างมีความมั่งคั่งขึ้น ชนชั้นกลางเหล่านี้เมื่อมีอำนาจมาก ขึ้นจึงได้หันไปสนับสนุนกษัตริย์ เพื่อให้คุ้มครองกิจการและผลประโยชน์ของตน การฟื้นฟูทาง เศรษฐกิจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและระบอบการเมืองการปกครอง เพราะทำให้ระบอบการ ปกครองแบบฟิวดัลเริ่มเสื่อมอำนาจลงในช่วงนี้ ขุนนางที่เคยเป็นใหญ่และมีอำนาจอิสระในการ ปกครองตามระบบแมเนอร์ของตนต้องล่มสลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากขุนนางต้องออกไปทำ สงครามและเสียชีวิตจำนวนมาก และผลจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากจะทำให้ ชนชั้นกลางมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกขุนนางยากจนลง พวกทาสติดที่ดินได้อพยพเข้า เมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกชนชั้นกลาง (BOURGEOIE) ขึ้นมามีอำนาจแทนที่ขุนนาง สังคมได้ เปลี่ยนค่านิยมจากเรื่องชาติกำเนิดตามชนชั้นมาเป็นฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคล พวกขุนนาง ต้องขายที่ดินให้แก่พวกชนชั้นกลาง ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินให้เป็นเกษตรกรรมเพื่อการค้า โดย เจ้าของที่ดินยกเลิกวิธีการดั้งเดิมมาให้ชาวนาเช่าที่ดินและจ่ายเงินให้กับเจ้าของแทน ทำให้พันธะ ตามระบอบฟิวดัลสิ้นสุดลง ระบอบกษัตริย์สามารถดึงอำนาจกลับคืนมาได้ และสถาปนาอำนาจ การปกครองสูงสุดตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้การปกครองระบบฟิวดัล ซึ่งมีมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 เริ่มเสื่อมลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และล่มสลายลงใน คริสต์ศตวรรษที่ 16



 สามารถทำแบบทดสอบได้ตามลิ้งค์นี้
https://forms.gle/94CJzoPaT6WMtvwGA

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

สงครามครูเสด